เตยหนู ๑

Benstonea humilis (Lour.) Callm. et Buerki

ไม้พุ่มขนาดเล็ก ขึ้นเป็นกอ ลำต้นสั้นมาก ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปแถบแคบ ดอกแยกเพศต่างต้น ไร้วงกลีบรวม ช่อดอกออกที่ปลายยอด ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลดมีกาบ ดอกเพศผู้มีจำนวนมาก ลดรูปเหลือเพียงเกสรเพศผู้ ๑ เกสร ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่น ออกเดี่ยวหรือมี ๒ ช่อ ตั้งขึ้น ผลแบบผลรวม รูปทรงค่อนข้างกลมแกมรูปทรงรี มีผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็งจำนวนมาก ผลย่อยไม่เชื่อมติดกันเป็นกลุ่มย่อย ๆ ส่วนโคนรูปคล้ายใบหอกกลับ ส่วนปลายมีรูปคล้ายหมวกเห็ด ผนังผลชั้นกลางเป็นเส้นใยและมีเนื้อ ผนังผลชั้นในมักมีโพรงของเมล็ดซึ่งมีผนังกั้นลักษณะคล้ายกระดูกอ่อนบาง ๆ คลุมอยู่คล้ายหลังคา มีก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวแหลม แข็ง รูปคล้ายหนาม ติดทนมีเมล็ด ๑ เมล็ด

เตยหนูชนิดนี้เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ขึ้นเป็นกอ อาจพบสูงได้ถึง ๑.๕ ม. ลำต้นสูง ๕-๑๕ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๘ มม.

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปแถบแคบ กว้าง ๐.๘-๒ ซม. ยาว ๐.๖-๑ ม. ปลายสอบเรียว ปลายสุดรูปลิ่มแคบแหลม ยาวประมาณ ๑ ซม. โคนแผ่เป็นกาบหุ้มรอบต้น ไร้หนาม ขอบใบบริเวณเหนือโคนใบขึ้นไปประมาณ ๕ ซม. มีหนามสีเหลืองอ่อน รูปลิ่มแคบแกมรูปสามเหลี่ยม ยาว ๑-๒ มม. แต่ละหนามห่างกัน ๒-๕ มม. ช่วงกลางถึงปลายใบขอบจักฟันเลื่อยเล็กและถี่ แผ่นใบแข็ง พับตามยาวเป็นสันคู่ เมื่อตัดตามขวางเห็นเป็นรูปตัวเอ็ม ตรงกลางเป็นร่อง ด้านบนสีเขียว ช่วงปลายมีหนาม ด้านล่างสีเขียวอ่อน แผ่นใบบริเวณโคนกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง ส่วนที่เหลือค่อนข้างบาง เส้นกลางใบด้านล่างช่วงโคนมีหนาม ยาว ๐.๗-๕ มม. รูปลิ่มแกมรูปกรวย ปลายแหลม ตรง หรือโค้งลง โคนอวบหนา แต่ละหนามห่างกัน ๐.๒-๑.๒ ซม. เส้นใบเรียงแบบขนานตามยาวข้างละ ๑๙-๒๘ เส้น เห็นชัด เส้นใบย่อยชั้นที่ ๓ ออกตามขวางเป็นลวดลายแบบตาข่ายรูปขอบขนานเบี้ยว เห็นเด่นชัดไปทางปลายใบ

 ดอกแยกเพศต่างต้น ไร้วงกลีบรวม ช่อดอกออกที่ปลายยอด ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลดมีกาบ ดอกเพศผู้มีจำนวนมาก ไร้ก้าน แยกเป็นอิสระหรือเชื่อมกันเล็กน้อยที่โคน แต่ละดอกลดรูปเหลือเพียงเกสรเพศผู้ ๑ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้นมากถึงไร้ก้าน อับเรณูยาวกว่าก้านชูอับเรณูมาก เห็นเด่นชัด ปลายเป็นติ่งแหลมอ่อน ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่น รูปทรงค่อนข้างกลมแกมรูปทรงรี ออกเดี่ยวหรือมี ๒ ช่อ ตั้งขึ้น ก้านช่อดอกเป็นสามเหลี่ยม กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๘-๑๓ ซม. กาบช่อดอกรูปคล้ายใบ กาบล่างสุดสีเหลือง รูปแถบแกมรูปใบหอก กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๗.๕ ซม. ขอบมีหนามสั้น สีเหลืองอ่อน ดอกเพศเมียไม่เชื่อมติดกันเป็นกลุ่มย่อย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสีเหลืองอ่อน ยาว ๓-๘ มม. รูปลิ่มหนา แบน หรือกึ่งรูปทรงกระบอก แข็ง เป็นมันวาว ตรงหรืออาจโค้งเล็กน้อย ยอดเกสรเพศเมียสีน้ำตาลเข้ม ติดอยู่บนด้านไกลแกนของก้านยอดเกสรเพศเมีย รูปแถบกว้าง ยาว ๒-๕ มม. มีปุ่มเล็ก ปลายแหลมคม

 ผลแบบผลรวม รูปทรงค่อนข้างกลมแกมรูปทรงรี ยาว ๒-๙ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๘-๖.๕ ซม.


ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็ง มี ๒๔๐-๓๐๐ ผล แต่ละผลกว้างประมาณ ๕ มม. ยาว ๐.๗-๑.๗ ซม. ผลย่อยไม่เชื่อมติดกันเป็นกลุ่มย่อย ส่วนโคนคล้ายรูปกรวยกลับ ยาว ๒.๕-๓ มม. ส่วนปลายมีลักษณะคล้ายหมวกเห็ด ยาว ๕-๘ มม. สีเหลือง คล้ายรูปกรวยเบี้ยว แข็ง โค้ง โคนของหมวกเห็ดกว้าง ๑.๗-๕ มม. สูง ๒-๓ มม. รูปพีระมิดเบี้ยว คล้ายรูปกรวยหรือรูปครึ่งทรงกลม มี ๕ เหลี่ยม เห็นชัด เรียบ มีนวล มีร่องลึกยาวลงมาจากยอดเกสรเพศเมีย ผนังผลชั้นกลางเป็นเส้นใยและมีเนื้อ ผนังผลชั้นในมักมีโพรงของเมล็ดซึ่งมีผนังกั้นลักษณะคล้ายกระดูกอ่อนบาง ๆ คลุมคล้ายหลังคา ก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียเรียวแหลม แข็ง คล้ายหนาม ติดทน มีเมล็ด ๑ เมล็ด

 เตยหนูชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๔๓๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกันยายนถึงมกราคม ในต่างประเทศพบทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย บังกลาเทศ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน ไปจนถึงคาบสมุทรมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เตยหนู ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Benstonea humilis (Lour.) Callm. et Buerki
ชื่อสกุล
Benstonea
คำระบุชนิด
humilis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de
- Callmander, Martin Wilhelm
- Buerki, Sven
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de (1717-1791)
- Callmander, Martin Wilhelm (1975-)
- Buerki, Sven (fl. 2006)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์